ปลาช่อนชนิดนี้ เป็นปลาช่อนชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ปลาช่อน
(Channidae) ที่มีความสวยงามโดดเด่นในประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง
ปลาช่อนชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่มีพื้นลำตัวออกสีเหลือบเขียวอ่อนหน่อยๆ และมีลวดลายสีเหลืองทองออกสีส้มสลับกับจุดแต้มสีดำ
ครีบมีจุดประสีเหลืองสด ท้องสีจาง ปลาช่อนข้าหลวงที่มีขนาดโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ
90 เซนติเมตร ในประเทศไทยนั้น เราจะพบปลาช่อนชนิดนี้ เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น
โดยเป็นปลาช่อนที่พบได้บริเวณเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเราอาจจะพบวาไรตี้ของปลาช่อนชนิดนี้
เพิ่มที่บริเวณพื้นที่อื่นอีก เช่นที่มาเลเซีย ไปจนถึงอินโดนีเซีย เช่น
เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว มักอาศัยตามแม่น้ำสายใหญ่หรือลำธารขนาดใหญ่ในป่าหรือพรรณไม้ชายฝั่งหนาแน่น
โดยจะหลบอยู่ใต้ร่มเงาของไม้นั้น นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมากกว่าจะนำมาบริโภค
โดยปลาที่พบที่เขื่อนรัชชประภาของไทยจะมีสีเหลืองที่สดสวยกว่าปลาช่อนข้าหลวงชนิดที่พบได้มากในประเทศมาเลเซีย
ลูกปลาช่อนข้าหลวง ที่มีขนาดเล็กนั้น สีสัน และลวดลายจะยังไม่ชัดเจน
ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน ถึงเข้ม และมีขีดดำพาดผ่านตลอดแนวลำตัวมองเห็นชัดเจน ลูกปลาในช่วงแรกเกิดถึงขนาดประมาณ
2 นิ้ว
จะอยู่รวมกันเป็นฝูง (ลูกครอก) เหมือนปลาช่อน โดยมีพ่อ และแม่ปลา
คอยให้ความคุ้มครอง จากปลาชนิดอื่นที่จะเข้ามากินลูกปลา (
ดังนั้นเราไม่ควรจะไปล่าพ่อและแม่ปลาโดยเด็ดขาด ใครล่านี่
คนเขียนขอให้จุ๊กกรู้ไม่ขันจริงๆด้วยนะ ) แต่เมื่อลูกปลาช่อนมีขนาดตั้งแต่ 3 นิ้วขึ้นไป ลูกปลาก็จะเริ่มแยกตัวออกหากินเองตามวิถีชีวิตของแต่ละตัวต่อไป
สำหรับอาหารของลูกปลาในวัยนี้ ก็ได้แก่พวก ลูกน้ำ, ไรทะเล, แมลงขนาดเล็กต่างๆ และจะเปลี่ยนไปตามขนาดของตัวปลา ผู้เลี้ยงสามารถฝึกปลาช่อนข้าหลวงนี่ให้กินอาหารสด
เช่นกุ้งขาวหั่นชิ้นเล็กๆหรือกุ้งฝอยแช่แข็งได้
อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังในการให้อาหารด้วย เนื่องจากเป็นปลาที่บางครั้ง
มีการโฉบกินอาหารอย่างรุนแรง จึงควรใช้อุปกรณ์ต่างๆในการป้อนอาหาร
หลีกเลี่ยงการให้อาหารปลาชนิดนี้ ด้วยมือหรือนิ้วเปล่าๆ การให้อาหารแก่ลูกปลาเล็กที่เลี้ยงรวมกันเป็นฝูง
จะทำให้ปลาเชื่องเร็ว และกินอาหารได้ดีขึ้น
เพราะปลาจะระแวงในการเข้ามากินอาหารน้อยลง ลูกปลาช่อนชนิดนี้ที่มีขนาดเล็กสามารถปรับตัวให้คุ้นกับสถานที่เลี้ยงดีกว่าปลาใหญ่
และสามารถฝึกให้กินอาหารได้หลายชนิด รวมทั้งอาหารเม็ด ได้อีกด้วย
สำหรับปลาที่โตแล้ว (ปลาที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ)
จะใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยกับที่เลี้ยง และ ผู้เลี้ยงมากกว่า
และหากเลี้ยงตั้งแต่ขนาดเล็กๆ เลย ปลาบางตัวจะมีความคุ้นเคยกับเจ้าของอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
ปลาช่อนข้าหลวง เป็นปลาที่สามารถทำการฝึกให้คุ้นเคยกับผู้เลี้ยงได้เป็นอย่างดี
ปลาช่อนข้าหลวงเป็นปลาที่ไม่เรื่องมากนักในเรื่องของค่าต่างๆในน้ำ
เหมือนกับการเลี้ยงปลาทั่วๆ ไป ขอเพียงแค่เป็นน้ำที่ไม่มีคลอรีนแรงๆก็เพียงพอ
แต่น้ำที่เลี้ยงควรใช้น้ำที่สะอาด มีขอนไม้แช่ในน้ำพอประมาณ เพื่อให้ได้สารแทนนินที่ละลายออกมาจากขอนไม้
ทำให้น้ำเป็นกรดอ่อนๆ น้ำจะออกสีเหลืองอ่อนๆ
ซึ่งจะทำให้สีของปลาเข้มขึ้นเรื่องของตู้เลี้ยง ปลาช่อนข้าหลวงนั้นสามารถโตได้เต็มที่ประมาณ
90 เซนติเมตร หรือประมาณ 36 นิ้ว (แต่ในตู้เลี้ยงที่มีขนาดไม่ใหญ่มากจริงๆ อาจจะไม่ถึง)
ดังนั้นตู้ที่เลี้ยงปลาชนิดนี้ จึงควรมีขนาดใหญ่พอประมาณ หากเลี้ยงตัวเดียว
ตู้ควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 36 นิ้ว มีที่หลบซ่อนให้พอสมควร แต่ถ้าจะเลี้ยงรวมกัน
ก็ไม่ควรต่ำกว่า 5-6 ตัวขึ้นไป และตู้เลี้ยงควรจะต้องมีขนาดตั้งแต่ 48-60
นิ้วขึ้นไป เพราะปลาจะได้มีที่ว่ายหลบหลีกกันบ้าง และลดความเครียดให้กับปลาได้อีกด้วย
ในส่วนของอุณหภูมิในที่เลี้ยง เนื่องจากปลาชนิดนี้ เป็นปลาในย่านอาเซียนอยู่แล้ว
ทำให้ปลาสามารถเลี้ยงตู้เลี้ยงได้อย่างสบาย ในอุณหภูมิปกติโดยเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ คือประมาณ 25 – 30 องศาเซลเซียส ( แต่ช่วงอากาศเย็นมากๆ
หรือ ร้อนจัดๆ ก็ต้องคอยระวังเฝ้าดูแล และแก้ไขปัญหาไปตามสมควรแก่สถานการณ์ด้วยนะครับ
เพราะในบางช่วงของปี อากาศบ้านเราก็เย็นสุดจิต หรือ ร้อนอิ๊บอ๋าย ได้เช่นกัน
ขนาดคนยังแทบทนไม่ได้ นับประสาอะไรกับปลาน้ำจืดตัวหนึ่ง... ) ส่วนข้อพึงระวัง สำหรับปลาชนิดนี้ก็เหมือนปลาตะกูลปลาช่อนทั่วไป
คือกระโดดเก่ง (มากๆ) ดังนั้นในตู้ที่เลี้ยงจำเป็นที่จะต้องมีฝาปิดมิดชิด
ควรหาวัสดุปิดช่องกรองให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการกระโดดเข้าไปแห้งตายด้วย นอกจากนี้
การเปลี่ยนน้ำไม่ควรทำในปริมาณมากๆ ควรเปลี่ยนครั้งละไม่เกิน 20% ต่อสัปดาห์ ด้วยน้ำสะอาดที่ไม่มีคลอรีนเจือปนครับ และ
ถ้าท่านทำได้ตามนี้แล้วล่ะก็ รับรองได้ว่า ปลาช่อนชนิดนี้ จะสวยขั้น เป็นปลา “โชว์แขก
“ ประจำบ้าน ได้อย่างสบายๆ อีกชนิดหนึ่งเลยล่ะครับ และถ้าท่านใดเลี้ยงเขาได้อย่างสมบูรณ์แล้ว
ก็อาจจะเห็นการจับคู่ผสมพันธุ์กันในที่เลี้ยง ให้ได้ชื่นใจกัน ก็เป็นไปได้ครับ
เรียบเรียง : กษิดิศ วรรณุรักษ์
เครดิตเพิ่มเติม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น