วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เกษตรสัตว์น้ำ : แนวทางการเลี้ยง ปลาสลิด เพื่อการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน และ จำหน่ายเป็นสินค้าบริโภค





    เมื่อพูดถึงปลาสลิดนั้น  หลายๆคน ก็มักจะนึกถึงหน้าตาเขาไม่ออก ทั้งๆที่ก็เป็นปลาน้ำจืดที่คุ้นเคย นั่งกินอยู่บ่อยๆ เพราะตอนไปซื้อทีไร ก็ไม่เคยเห็นหัวมันอยู่ครบกับตัวซักที (ฮา) จนหลายๆคนก็อาจจะแซวว่า จริงๆ ปลาสลิดมันไม่มีหัวหรอก...ซึ่งจริงๆ มันมีนะจ๊ะ (ฮา)

    ปลาสลิดหรือที่หลายๆคนเรียกกันว่า ปลาใบไม้เป็นปลาน้ำจืด ซึ่งเป็นปลาพื้นบ้านของประเทศไทย มีแหล่งกำเนิดอยู่ในที่ลุ่มภาคกลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster pectoralis และนิยมเลี้ยงกันมากบริเวณภาคกลางของประเทศ สำหรับแหล่งปลาสลิดที่มีชื่อเสียเป็นที่รู้สักว่ามีรสชาติดี เนื้ออร่อย คือ ปลาสลิดบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ แต่ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมได้ขยายตัวอย่างแพร่หลายทำให้น้ำธรรมชาติที่จะระบายลงสู่บ่อเลี้ยงปลาสลิดมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมเท่าไหร่ แต่ก็ยังพอมีการเลี้ยงกันอยู่บ้างพอสมควร ส่วนพื้นที่ดินพรุทางภาคใต้ในเขตจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวก็สามารถใช้เป็นที่เลี้ยงปลาสลิดได้เช่นกัน ด้วยความที่โดยพื้นฐานนั้น ปลาสลิดเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย มีความอดทนต่อความเป็นกรด และน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนน้อยได้ดี มีห่วงโซ่อาหารสั้นคือกินแพลงก์ตอนและสิ่งมีชีวิตเล็กๆในน้ำเป็นอาหาร ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ และ สามารถเลี้ยงได้อย่างสะดวก ทั้งในบ่อดิน และ บ่อซีเมนต์  หรือกระทั่งในนาข้าว เพื่อ เก็บเกี่ยวผลผลิตอีกครั้ง หลังจากข้าวออกรวงเรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับการทำนา ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน

    ปลาสลิดเป็นปลาที่ชอบอยู่ในบริเวณทีมีน้ำนิ่ง เช่น หนอง บึง ตามบริเวณที่มีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น ผักและสาหร่ายที่ขึ้นเป็นกลุ่มอยู่ตามริมน้ำ เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยกำบังตัวและก่อหวอดวางไข่นั่นเอง โดยรูปพรรณสันฐานแล้ว ปลาสลิดนั้นจะมีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ แต่มีขนาดที่โตกว่า ลำตัวแบนข้างมีครีบ ท้องยาวครีบเดียว สีของลำตัวมีสีเขียวออกเทาหรือมีสีคล้ำเป็นพื้น และมีริ้วดำพาดขวางตามลำตัวจากหัวถึงโคนหาง เกล็ดบนเส้นข้างตัวประมาณ 42-47 เกล็ด ปากเล็กยืดหดได้ ปลาสลิดซึ่งมีขนาดใหญ่เต็มที่จะมีความยาวได้ถึงประมาณ 20 เซนติเมตรเลยทีเดียว

    การเลี้ยงปลาสลิดนั้น สามารถเลี้ยงได้ ทั้งแบบรวมกับปลากินพืชชนิดอื่นๆ หรือ เลี้ยงเฉพาะปลาสลิดเพียงอย่างเดียวก็สามารถทำได้ เตรียมพื้นที่เลี้ยง โดยถ้าเป็นบ่อดินนั้น ก็ควรจะเริ่มจากการหาที่ดินที่เหมาะสม เพื่อขุดทำบ่อเลี้ยงพื้นที่ที่เหมาะสมต้องเป็นดินเหนียวและดินเค็มมาก่อน แต่น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาต้องจืดสนิท ทำเลบ่อต้องอยู่ติดคูคลองเพื่อง่ายต่อการวิดน้ำเข้าบ่อเลี้ยง วิธีการทำบ่อเลี้ยงต้องขุดบ่อกว้าง 3 เมตร ลึกเริ่มจากที่ดอนประมาณ 1 เมตร ขุดสโลปโดยรอบที่ จนถึงที่ลุ่มลึก 3 เมตร โดยขุดตามแนวรอบดิน นำดินที่ขุดจากร่องไปตั้งเป็นคัน ห่างจากร่องน้ำ 10 เมตร เพื่อเป็นคันสำหรับเก็บกักน้ำในบ่อเลี้ยง ทำคันดินให้กว้างประมาณ 6 เมตร อัดให้แน่นไม่ให้น้ำซึมออกและบนพื้นที่บ่อที่ลุ่มขุดบ่อเล็ก ๆ ขนาด 4x6 เมตร ลึก 2 เมตร เป็นบ่อสำหรับเก็บพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ปลาสลิดไว้เตรียมเพาะพันธุ์ลูกปลา และในส่วนของการเตรียมบ่อ ผู้เลี้ยงก็ควรจะปลูกผักบุ้งบนพื้นที่บ่อให้เต็ม และกำจัดศัตรูของลูกปลาในบ่อ โดยเฉพาะในร่องรอบบ่อให้หมด โดยใช้ไซด์ยาไนต์ หรือ โรติ้น แต่ถ้าเป็นบ่อปูน ก็เพียงแต่ จัดการเรื่องของระบบน้ำต่างๆ ให้เรียบร้อย และ หาพืชน้ำมาปลูกเอาไว้ในบ่อซักระยะก่อน แล้วค่อยทยอยลงปลาก็ได้ครับ


  ปลาสลิดกำลังผสมพันธุ์กันในตู้กระจกครับ

    ในการเพาะพันธุ์ปลาสลิดนั้น ในบางช่วงอาจจะต้องมีการจำกัดอาหารพ่อและแม่ปลาซักระยะหนึ่ง และมีการเปลี่ยนน้ำใหม่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นให้แม่ปลาผลิตไข่ คล้ายกับวงจรของธรรมชาติ หรือ อาจจะหาอาหารปลาสำเร็จรูป มาคลุกกับฮอร์โมนบำรุงพ่อและแม่พันธุ์ปลาก็ได้ เมื่อ ปลาจับคู่ ก่อหวอดกันเรียบร้อยแล้ว ผู้เลี้ยงก็อาจจะใส่ปุ๋ยหมัก หรือ ตัดเศษหญ้าตามขอบบ่อลงไปในบ่อ ให้เกิดไรน้ำ เพื่อเป็นอาหารแก่ลูกปลา และ ค่อยๆทยอยจับปลาสลิดที่โตได้ขนาดไปจำหน่ายเป็นระยะๆ ต่อไป ส่วนน้ำในบ่อนั้น ก็ถ่ายออกบ้างเป็นบางครั้ง เพื่อรักษาคุณภาพน้ำตามสมควรก็เพียงพอแล้วครับ โดยปลาพ่อและแม่พันธุ์นั้น จะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์กันเมื่ออายุได้ประมาณ 7 เดือนครับ โดยสามารถวางไข่ได้ครั้งหนึ่ง มากถึงประมาณ 4,000 – 10,000 ฟองเลยทีเดียว และ การเลี้ยงปลาสลิดในบ่อปูนจะสามารถคัดแยกลูกปลาออกมาเลี้ยงในบ่อต่างๆได้ง่ายกว่า ในบ่อดินครับ
 
    ปลาสลิดจัดว่าเป็นปลาน้ำจืด ที่ได้รับความนิยมในการนำมารับประทาน มาเป็นระยะเวลานานแล้ว เนื่องจากเนื้อมีรสชาติอร่อย สามารถนำมารับประทานได้ทั้งปลาสด และ ปลาแห้งแปรรูปเป็นอาหารได้อย่างหลากหลาย และ มีราคาต่อ ก.ก. ที่ค่อนข้างเสถียรครับ เหมาะกับการนำมาเป็นปลาน้ำจืดเพื่อการบริโภคทั้งภายในครัวเรือน และ ผลิตจำหน่ายครับ

เครดิตข้อมูลเสริม 









*****************************************


ถ้าพี่ๆน้องๆสนใจบทความ และ หนังสือน้องกุ้งแคระ & กุ้งเครย์ อื่นๆ อยากเก็บเอาไว้สะสม สามารถเข้าไปที่นี่ได้เด้อครับ


ติดตาม แฟนเพจ Thailand Aquatic Pet เพื่อติดตามเรื่องราวน่าสนใจ เกี่ยวกับกุ้งสวยงาม และ สัตว์น้ำสวยงาม ที่น่าสนใจ ได้ที่นี่ครับ


***************************************************************



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น