วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

หอยเขา : หอยสวยงาม แถมมีประโยชน์ในการกินตะไคร่น้ำ



   ทุกครั้งที่ตะไคร่บุกตู้ มักจะมีคำถามต่างๆ มากมาย ประเด ประดังเข้ามา สำหรับผู้ที่เลี้ยงปลา หรือ สัตว์น้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในตู้ หรือ ในบ่อต่างๆ ว่าเมื่อมีแสงแดดส่องลงมา แล เกิดตะไคร่ ขึ้นมาเขียวเป็นหย่อมๆ มากบ้าง น้อยบ้าง หรอมแหรมบ้าง เยอะบ้าง ว่ากันไปนั้น เราจะทำอย่างไรกันดี ถ้าเป็นในบ่อปลากลางแจ้ง ก็ดูจะไม่เป็นไร ปล่อยให้ขึ้นไป ช่วยเรื่องคุณภาพน้ำได้ด้วย และ ดูเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นในตู้กระจก โดยเฉพาะตู้ไม้น้ำ ที่มีการปลูกต้นไม้เอาไว้ล่ะก็ ถ้าไม่ใช่ตู้ที่เจ้าของต้องการให้จัดดูดิบๆ รกๆ ตะไคร่ขึ้นเพียบๆ เพื่อประโยชน์ในการเป็นอาหาร หรือเป็นที่หลบซ่อนให้ปลาในตู้เพื่อการเพาะพันธุ์ หรือ คงสภาพตามธรรมชาติกันอย่างจริงจังแล้วล่ะก็ สภาพตู้แบบนั้น มันช่างดูอเนจอนาถสายตายิ่งนักขอรับ  ทีนี้เราจะทำยังไงกันดีล่ะ สำหรับการกำจัดตะไคร่พวกนี้ ถ้าอยู่ตรงกลางตู้ ตามกระจกนิดๆหน่อยๆ มันก็พอขัดได้ แต่ถ้าตะไคร่กระจายขึ้นไปทั่ว จะไปขัดได้ยังไง ขัดไป ตู้ไม้น้ำที่ปลูกต้นไม้เอาไว้ดิบดี  และยากลำบาก เกร็งมือปักกันแทบมือหงิก  ใช้เวลาจิ้มทีละต้นๆ เป็นชั่วโมงๆ  ถ้ารากยังไม่แข็งแรงจริง ก็อาจจะหลุดตามแรงมือของเราออกมาเป็นกระจุกๆ เละกันไป  จนแทบอยากจะเอามือกุมหัว แล้วร้องตะโกนว่า “ ม่ายยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยย “ ไปตั้งแต่หน้าบ้าน ยันถึงหน้าปากซอยเลยทีเดียว ( ยังกับพระเอกมิวสิควีดีโอเลยแฮะ) นั่นเป็นที่มา  ของการหาเครื่องทุ่นแรง มาใช้ในการกำจัดตะไคร่น้ำ ก็คือ แต่น....แต๊นนนนนน  “ หอยเขา “ นี่เอง  ไม่ใช่ “ หอยเรา “  นะ ( ตึ่งโป๊ะ !!! โห มุข โบร๊าณ  โบราณ เนาะ )

     หอยเขานั้น เป็นหนึ่งใน หอยในกลุ่ม ที่เรียกกันว่า “ Nerite  Snails “ นั่นเอง  ซึ่งก็จะมีหลากหลายชนิด กระจายกันไปในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก  และมีจำหน่ายกันไปตามร้านค้าต่างๆมากมาย ในฐานะ หอยน้ำจืด ที่เน้นใช้ไปในการกำจัดตะไคร่น้ำ ที่เกิดขึ้นในตู้   เรียกได้ว่า แทบจะเป็นสมาชิกที่ขาดไม่ได้ในหลายๆ อควาเรียม และ สำหรับผู้เลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจก และ ตู้ไม้น้ำทั่วไปมากมายทั่วโลกครับ  

    จริงๆ แล้ว หอย ในตระกูล Nerite Snails นี้ จะสามารถเลี้ยงได้ทั้งในน้ำจืด , น้ำกร่อย และ น้ำเค็มครับ เรียกได้ว่าสามารถปรับตัวเข้ากับค่าความเค็มของน้ำได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยทีเดียว  ไม่น่าเชื่อเลยนะครับ  ว่าสัตว์ตัวเล็กๆ จะสามารถมีระบบในการปรับสมดุลในร่างกายได้ดีถึงขนาดนั้น  ซึ่งที่อยู่อาศัยของแต่ละชนิด ก็อาจจะแตกต่างกันออกไปอีกที บางชนิดจะอยู่บริเวณแหล่งน้ำจืดมาก บางชนิดก็อยู่ตรงรอยต่อของปากแม่น้ำ ระหว่าง ในช่วงที่เป็นน้ำจืด มาบรรจบกับน้ำเค็ม และ บางชนิด ก็สามารถอาศัยในพื้นที่ๆ เป็นน้ำเค็มอย่างในทะเลได้อย่างไม่มีปัญหา
   หอยในตระกูล  Nerite Snails ทั้งหลายนั้น จัดเป็นมิตรอย่างแท้จริง สำหรับเพื่อนๆร่วมตู้ คือจะไม่ทำอันตรายกับใครเลย ตั้งหน้า ตั้งตาหากินอาหารของตัวเองเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม  และ มีความสามารถในการไล่เก็บกินตะไคร่น้ำต่างๆ ได้เป็นอย่างดี  ไม่ว่าจะเป็นตะไคร่ ที่ขึ้นตามกระจก หรือ ตามซอกซอนต่างๆ ที่ยากต่อการทำความสะอาดครับ  เนื่องจากหอยประเภทนี้กินตะไคร่ได้ค่อนข้างเก่งมากๆ ดังนั้น ผู้เลี้ยงไม่ต้องใช้ปริมาณหอยมากนัก ก็สามารถจะกำจัดตะไคร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ  ซึ่งถ้าเป็นกุ้งแคระ บางทีถ้าเขาอิ่มๆ ก็อาจจะไม่ค่อยกินตะไคร่เท่าไหร่ และ อาจจะมีความเร็วในการกำจัดตะไคร่ที่น้อยกว่าเล็กน้อยครับ  
   อย่างไรก็ตาม เรามักพบว่า  หอยประเภทนี้ มักจะพบปัญหาเกี่ยวกับอาการกร่อนของเปลือก เวลาที่อยู่ในตู้เลี้ยง ที่มีค่า Ph ต่ำ ดังนั้น  ถ้าใช้เจ้าหอยนี้ ในการกำจัดตะไคร่ในตู้เรียบร้อยแล้ว ก็อาจจะจับออกไปเลี้ยงต่างหาก ในน้ำที่ค่า Ph กลางๆ หรือ สูง เพื่อไม่ให้เปลือกกร่อนได้ครับ  พอตู้มีตะไคร่เริ่มขึ้นอีก ค่อยเอาเขากลับมาใช้งานอีกทีก็ได้ครับ ซึ่งในระหว่างที่แยกมาเลี้ยง ในอ่างที่ไม่มีตะไคร่นี้  เราก็สามารถให้อาหารสำเร็จรูป ที่ทำมาจากพวกตะไคร่อบแห้ง ที่หาซื้อกันได้ทั่วไป ให้เขากินได้อย่างสบายๆครับ 
   ในการเพาะหอยชนิดนี้นั้น  จำเป็นต้องทำน้ำให้ เป็นน้ำกร่อย ( แต่ไม่ถึงขั้นน้ำเค็มครับ ) เนื่องจากไข่ชนิดนี้ ไม่สามารถที่จะฟักได้ในน้ำจืดสนิทครับ  ถ้าคุณต้องการเพาะพันธุ์หอยชนิดนี้นั้น ก็ควรจะทำอ่างเพาะเอาไว้ต่างหาก และพยายามทำให้น้ำมีค่าของ แคลเซียมละลายอยู่ในน้ำที่สูง  โดยอาจจะใช้เทคโนโลยีของซับสเตรท ( อุปกรณ์รองพื้น ) มาช่วย หรือง่ายๆ ก็อาจจะใช้พวกเศษปะการัง มาโรยเอาไว้ในบ่อเพาะเลี้ยง  เพื่อที่จะทำให้น้ำที่มีค่าแคลเซียมสูง สำหรับช่วยให้ลูกหอยวัยอ่อนเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี  อุณหภูมิในการเพาะที่ดีที่สุดอยู่ที่ประมาณ 27  องศา  บวกลบเล็กน้อยครับ  ในการผสมพันธุ์หอยประเภทนี้นั้น  ต้องใช้พ่อหอย และ แม่หอย อย่างน้อยประมาณ 5 ตัวขึ้นไป เพื่อให้แน่ใจว่า ในกลุ่มนั้น มีครบทั้งหอยตัวผู้ และ หอยตัวเมีย ( หอยประเภทนี้ จะมีเพศของตัวเองครับ แต่แยกได้ยากมาก ถึงแยกไม่ได้เลยก็ว่าได้ครับ สำหรับคนทั่วไป ) เมื่ออยู่ในอุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  และตัวหอยมีความสมบูรณ์แล้ว หอยตัวผู้ และ ตัวเมีย จะจับคู่อยู่เคียงข้างกัน  ตัวเมียจะวางไข่ ซึ่งเป็นไข่ประเภทเกาะติดกับวัสดุต่างๆ ในตู้ หรือ บ่อเพาะครับ และ หอยตัวผู้ จะตามติดไปฉีดน้ำเชื้อให้ผสมกับไข่  หลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง  ไข่ก็จะแตกตัวออกเป็นแพลงตอน  แบบไร้เปลือก ล่องลอยอยู่ในน้ำซักระยะ  แล้วก็จะเริ่มดูดซึมแร่ธาตุประเภทแคลเซียมในน้ำมาสร้างเปลือก และ เริ่มพัฒนาเป็นลูกหอยขนาดเล็ก ลงเกาะติดและหากินตามพื้นผิวของตู้ในเวลาต่อมาครับ  และหลังจากลูกหอยเติบโตมาได้ขนาดประมาณหนึ่ง จนดูคล้ายหอยตัวเต็มวัยแล้ว ผู้เลี้ยงก็สามารถแยกออกมาเลี้ยงในน้ำจืดสนิทได้ เหมือนกันกับพ่อและแม่ของมันครับ 
เรียบเรียง : กษิดิศ  วรรณุรักษ์
******************************************************************
แอพพลิเคชั่นสารพัดประโยชน์แนวใหม่ เพียงแค่โหลดมาเล่น ก็ได้รายได้จากค่าโฆษณาของแอ็พฯแบ่งมาให้เรา ถ้าสนใจ โหลดเลย ลิงค์อยู่ด้านล่างจ้า  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น