วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ความรู้เกี่ยวกับ การลอกคราบของปูนา และ ปูทุกชนิด



    เช่นเดียวกับสัตว์ในตระกูลครัสเตเชียลชนิดอื่นๆ ปูเป็นสัตว์ที่จะกินอาหาร และ เก็บสะสมสารอาหารต่างๆ เอาไว้ในตับอ่อนของตัวเอง ในระหว่างนั้น ฮอร์โมนกระตุ้นการการลอกคราบ หรือ molting hormone ก็จะเริ่มกระจายไปทั่วตัวปู และ ปูจะเริ่มกระบวนการของการสร้างกระดองใหม่ โดยที่กระดองใหม่ ที่จะขึ้นมานั้น ก็จะซ้อนอยู่ข้างใต้กระดองเก่านั่นเอง และ เมื่อปูพร้อมที่จะลอกคราบแล้ว กระดองด้านนอก ก็จะเริ่มมีรอยปริตรงรอยต่อ ระหว่างกระดองกับท้องของปู หลังจากนั้น ปูก็จะพยายามดันตัวเองออกมา โดยใช้เทคนิคถอยหลังออกจากกระดองเก่า และในเวลาไม่นานนัก กระดองอันเก่าของปูก็จะหลุดออกมา เผยให้เห็นกระดองใหม่ของปูที่ยังไม่แข็งนั่นเอง และ กระดองใหม่ซึ่งถูกสร้างขึ้นในระยะแรก จะมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ เปลือกของปูนั้นประกอบไปด้วยสารประกอบจำพวกไคติน,โปรตีน ,แร่ธาตุ และ เซลลูโลสอีกจำนวนหนึ่ง
     โดยไคตินจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของอวัยวะหลายๆส่วนของปู ไม่ว่าจะเป็น ขน,หนาม และ ส่วนประกอบที่เป็นเปลือกลำตัว ฯลฯ ปูนั้นจัดเป็นครัสเตเชียลที่มีเปลือกแข็งมาก เมื่อเทียบกับ ญาติๆของมันในกลุ่มครัสเตเชียลประเภทอื่นๆ นอกจากนี้แร่ธาตุประเภทแคลเซียม ก็จำเป็นกับการสร้างเปลือกของปูเช่นกัน โดยปูที่อยู่ในทะเลจะสามารถดูดซับแคลเซียมได้เป็นอย่างดีจากน้ำทะเล แต่กับปูน้ำจืดนั้น จะได้รับแคลเซียมจากอาหารที่รับประทานมากกว่าการดูดซึมแร่ธาตุต่างๆจากในน้ำจืด บางครั้งเราจึงพบว่าปูน้ำจืดต้องมีการกินเปลือกเก่าของตัวเอง เพื่อนำแคลเซียมและส่วนประกอบอื่นๆที่สูญเสียไป จากการลอกคราบกลับคืนมาสู่ร่างกายของปูอีกครั้ง หรือ อาจจะไปหาแร่ธาตุ และสารที่จำเป็นต่อการทำให้เปลือกแข็งตัวเพิ่มเติม จากหอยน้ำจืดขนาดเล็ก ที่ปูสามารถรับประทานได้ ดังนั้นในการเลี้ยงและดูแลปูน้ำจืดอย่างปูนาในปริมาณมากๆนั้น อาหารที่ให้จึงต้องมีความหลากหลาย และ เพียงพอต่อความต้องการของปูในที่เลี้ยง ที่ยิ่งเลี้ยงหนาแน่น ก็จะต้องคำนวณปริมาณการให้อาหารที่หลากหลายมากขึ้น 
      และในระหว่างที่มีการลอกคราบนั้น ปูนาก็จะหาที่หลบซ่อนตัว เพื่อให้แน่ใจว่า ตัวเองนั้นจะปลอดภัยในระหว่างกระบวนการลอกคราบ ซึ่งในช่วงนี้นั้น ปูจะมีลำตัวอ่อนนุ่มและไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เลยครับ ต้องรอจนกระดองแข็งแล้ว จึงสามารถออกจากที่ซ่อนของตัวเอง เพื่อดำรงชีวิตไปตามปกติของตัวเองต่อไปได้ครับ ซึ่งในช่วงนี้ นับเป็นจุดที่อันตรายมากๆ ผู้เลี้ยงต้องคอยหมั่นดูแล เช่น ถ้าพบเจอปูนากำลังลอกคราบใหม่ๆ อาจจะหาตะกร้าพลาสติคที่มีรูระบายน้ำมาครอบตัวปูเอาไว้ซักช่วงระยะสั้นๆ ก็สามารถทำได้ครับ แต่ถ้าพบว่ามีปูตัวผู้มาใกล้ๆ โดยไม่ทำอันตราย ก็อาจจะเป็นสัญญาณว่า อาจจะมีการผสมพันธุ์กันก็เป็นไปได้ครับ จึงควรจะตัดสินใจให้ดี กับการจัดการในส่วนนี้ครับ 

เรียบเรียง : กษิดิศ  วรรณุรักษ์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น