วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

กุ้ง Florida crayfish หรือ Procambarus alleni




    กุ้งเครย์ฟิช Procambarus alleni  (ต่อไปในบทความ จะขอเรียกอย่างย่อๆว่า P.Alleni ) ชนิดนี้นั้น  มีแหล่งกำเนิดอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออก ของแม่น้ำเซนต์ จอห์น ไปจนถึงในแถบพื้นที่ของรัฐ หลายๆรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐเพนนิซูล่า ,ฟอร์ริด้า  และ พื้นที่ใกล้เคียงบางส่วน   ในธรรมชาติพบได้ในหลากหลายรูปแบบพื้นที่ของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น แหล่งน้ำไหล ลำธาร และ แม่น้ำต่างๆ  หลายๆท่าน อาจจะไม่ทราบว่า กุ้งชนิดนี้นั้น สีสันตามธรรมชาติ จะเป็นสีเทา และ น้ำตาลเป็นหลัก  ส่วนสีน้ำเงินเข้ม ( ทางตะวันตก นิยมเรียกสีน้ำเงินเข้ม โทนนี้ว่า Cobalt blue )ที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงนั้น  เกิดจากการพัฒนาสีสัน โดยมนุษย์ มาเป็นเวลานานปี  ก่อนจะมีสีน้ำเงินเข้มสดใสอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันครับ ( ถ้าสีสันสดใสแสบตา ขนาดนี้ในธรรมชาติจริงๆ เกรงว่าจะไม่รอดจากปากเหยี่ยว,ปากกา และ สารพัดนักล่าต่างๆไปได้นั่นเองครับ )

      รูปร่างลักษณะโดยรวมๆแล้ว ถ้าเทียบกับกุ้งเครย์ฟิช P.clarkii  ที่หลายๆคนคุ้นเคยนั้น กุ้ง อัลเลนี่ จะมีช่องว่างระหว่างเส้นลายเปลือกรูปตัว V มากกว่า P.clarkii เป็นลักษณะที่เห็นได้อย่างชัดเจน และ ในส่วนของก้าม ก็มีขนาดที่เรียวเล็กกว่ามากด้วย นอกจากนี้เปลือกส่วนหัวของ P.clarkii ก็จะมีจุดเล็กๆประปรายไปทั่ว ถ้าเทียบกับ P.Alleni ครับ

     สำหรับในที่เลี้ยงนั้น  ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ได้ใน  ตู้ที่มีขนาดไม่เล็กเกินไปนัก คือตั้งแต่ 20 – 24 นิ้วขึ้นไปได้ จะเป็นการดี เพื่อให้ดูแลระบบต่างๆ ได้สะดวกขึ้นครับ  กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ สามารถเลี้ยงได้ในน้ำสะอาด ไม่มีค่าของเสีย เช่น ไนไตรท์ หรือ แอมโมเนีย ปะปนในปริมาณมากเกินไป ส่วนค่าของ pH ควรอยู่ที่ประมาณ 6.5 – 8.5 , ค่า kH 3-10 ค่า gH 4-10  ค่า TDS ประมาณ 100-300 และอุณหภูมิที่เหมาะสม จะอยู่ในช่วง 23 – 27 องศาเซลเซียสครับ  ในที่เลี้ยงก็ไม่ควรจะปลูกต้นไม้น้ำ เพราะว่ากุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ สามารถกัดแทะไม้น้ำได้อย่างสบายๆครับ  ถ้าจะเลี้ยงปลาด้วย ก็ต้องเป็นปลาที่ไม่ดุ และ ถ้าไม่ต้องการให้ปลาถูกจับกินได้ง่ายนัก ก็ควรจะเป็นปลาเล็กๆ ที่ว่ายน้ำด้วยความไว และ อาศัยอยู่กลาง หรือ ผิวน้ำเป็นหลักครับ

      กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้นั้น เป็นกุ้งที่ทานอาหารได้ง่าย  ในธรรมชาตินั้นกุ้งเอง จะกินอาหารได้หลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตะไคร่,ใบไม้,แมลงและตัวอ่อนแมลงขนาดเล็กๆในน้ำ จนกระทั่งถึงสัตว์น้ำเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกปลา หรือ แม้กระทั่งกุ้งด้วยกันที่มีขนาดเล็กกว่า ก็สามารถทานได้  ในที่เลี้ยงกุ้งชนิดก็จึงไม่มีปัญหาในการกินอาหารหลากหลายประเภท ทั้งอาหารสด และ อาหารสำเร็จรูปจมน้ำครับ

 สำหรับการผสมพันธุ์กุ้งชนิดนี้นั้น  ก็เป็นเช่นเดียวกับญาติๆ ในตระกูลเดียวกัน คือ จะออกลูกเป็นไข่ และพัฒนาตัวเป็นตัวอ่อนอยู่ที่หน้าท้องของแม่กุ้ง  สำหรับการดูเพศนั้น ถ้าดูจากภายนอก กุ้งตัวผู้ จะมีก้ามที่ใหญ่ และ ยาวกว่าตัวเมียเล็กน้อย ลำตัวเพรียวกว่า ในขณะที่ตัวเมีย ก้ามจะค่อนข้างสั้นกว่าตัวผู้ และมีทรงก้าม และบริเวณลำตัวที่อ้วนป้อมกว่า ถ้ามองจากด้านบน  แต่ถ้าจะให้แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์  ก็สามารถหงายท้องดูเพศได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ขนาดที่ยังไม่ใหญ่มากครับ หลังจากการผสมพันธุ์กันเรียบร้อยแล้ว และตัวเมียได้นำเชื้อของตัวผู้มาผสมกับไข่ที่ผลิตไว้ในตัวเองตามขั้นตอนตามธรรมชาติ ไข่ก็จะค่อยๆ ถูกลำเลียงลงไปเก็บไว้ที่ส่วนครีบโบกบริเวณหน้าท้องของตัวเมีย และตัวเมียจะทำการโบกครีบไปมาช้าๆไปเรื่อยๆ เพื่อให้อ็อกซิเจนกับไข่ และตัวอ่อนไปจนกว่า ลูกกุ้งจะโตและลงเดินออกจากส่วนหน้าท้องของแม่ครับ ซึ่งปริมาณของไข่ และตัวอ่อน ก็จะขึ้นอยู่กับขนาด และ ความสมบูรณ์เพศของแม่กุ้ง และ พ่อกุ้งด้วยครับ  ถ้ามีขนาดใหญ่ และ มีความสมบูรณ์เพศมาก ก็จะได้ปริมาณผลผลิตที่มากขึ้นด้วยครับ

    ในปัจจุบันแม้ว่ากุ้งชนิดนี้ จะมีราคาที่ย่อมเยาลงมาก ทำให้กลายเป็นกุ้งเครย์ฟิช ในระดับที่เป็นกุ้งพื้นฐาน ที่ผู้คนเริ่มเลี้ยงกัน แต่เนื่องจากมีความใกล้ชิดทางสายพันธุ์กับ P.clarkii เป็นอย่างมาก จึงสามารถนำไปผสมกันได้ กับกุ้ง P.clarkii หลากหลายสีสันได้ ด้วยความหวัง จากนักพัฒนากุ้งสวยงามว่า จะสามารถรังสรรค์ กุ้งลูกผสมสีสันใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาดได้ นั่นเองครับ



****************************************************************

แอพพลิเคชั่นสารพัดประโยชน์แนวใหม่ เพียงแค่โหลดมาเล่น ก็ได้รายได้จากค่าโฆษณาของแอ็พฯแบ่งมาให้เรา ถ้าสนใจ โหลดเลย ลิงค์อยู่ด้านล่างจ้า 

https://www.wowapp.com/w/meogui/Kasidit-Wannurak


****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น